Tikal: Maya civilization in the heart of rainforest

North America

16 ต.ค. 2022

Tikal: Maya civilization in the heart of rainforest

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญสุดของการมากัวเตมาลาของบ้านเราคือ การได้มาเยือน Tikal ค่ะ

Tikal (อ่านว่า ตีกาล / tee-kahl แต่หลายแห่งก็อ่านว่า ติกัล/ ti-kaal) คือ โบราณสถานแห่งอารยธรรมมายาในยุคคลาสสิกที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าฝนผืนใหญ่ทางเหนือของประเทศกัวเตมาลา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียน UNESCO World Heritage Site และมีความพิเศษกว่า World Heritage Site ที่อื่นๆ เพราะ Tikal นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งในเรื่องวัฒนธรรมและความหลากหลายทางธรรมชาติควบคู่กันซึ่งมีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในโลกนี้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งสองแบบเช่นนี้

Tikal ตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบ Petén ซึ่งเป็นที่ราบซึ่งอารยธรรมมายายุคก่อนคลาสสิกและคลาสสิกจำนวนมากตั้งอยู่ ถ้าจะคิดตามแผนที่ภูมิศาสตร์ในยุคปัจจุบัน แอ่งที่ราบ Petén ก็จะมีอาณาบริเวณครอบคลุมบริเวณทางใต้ของประเทศเม็กซิโกและทางเหนือของประเทศกัวเตมาลา ซึ่งในบริเวณแอ่งที่ราบนี้นั้นมีเมืองโบราณมายาตั้งอยู่หลายเมือง เช่น Calakmul, Nakum, Tikal แต่มีเพียง Tikal เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในภูมิภาคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO

แล้ว Tikal สำคัญกับทริปนี้ของบ้านเรายังไงล่ะ ที่นี่นอกจากเป็นโบราณสถานอันยิ่งใหญ่และสมบูรณ์มากๆ ของอารยธรรมมายาในยุคคลาสสิกแล้วก็ยังเป็นสถานที่อันฝังใจที่ป่ะป๊าอยากไปมากๆ ตั้งแต่สมัยวัยละอ่อน มันคือภาพจำของสิ่งก่อสร้างยุคโบราณที่ตั้งตระหง่านสูงเสียดแทงยอดไม้ในป่าอันเขียวขจีที่ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ซึ่งเราจะเห็นได้จากฉากในหนัง Star Wars: A New Hope ส่วนตัวป๊าเองนั้นก็อยากเดินทางไปที่นี่มาเนิ่นนานแต่ก็มีเหตุให้แคล้วคลาดจนอดไปซะทุกที ความพยายามครั้งแรกของป๊าก็ย้อนกลับไปเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนแต่กัวเตมาลาก็กำลังมีสงครามกลางเมืองที่ทำให้การขอวีซ่ายากเย็นและก็ลำบากเกินไปในการเดินทาง หลังจากนั้นในปี 2002 ป๊าก็เกือบจะได้ไปเยือน Tikal ได้สมใจแล้วเพราะได้ไปทำงานที่เม็กซิโกเลยตั้งใจจะเลยลงไป Tikal ด้วย ได้เดินทางไปจ่อรอตีตราเข้าประเทศกับด้านตรวจคนเข้าเมืองที่บริเวณชายแดนเม็กซิโกแล้ว แต่ก็ให้มีปัญหาเรื่องประเภทของเล่มพาสปอร์ตก็เลยต้องชวดอดเข้าประเทศกัวเตมาลาไปแบบน่าเสียดายมากก ประเทศกัวเตมาลานั้นอยู่ข้างหน้าแบบเดินไม่กี่ร้อยเมตรก็ข้ามเข้าประเทศได้แล้ว แต่ก็ได้แต่มองตาละห้อยและอดไป หลายครั้งหลายคราวที่มีเหตุให้ไม่ได้ไปเสียที เลยทำให้กัวเตมาลาและ Tikal เลยเป็นดินแดนที่ค้างคาอยู่ในใจป๊ามาเป็นเวลายาวนานกว่าสี่สิบปี เมื่อเวลาได้หมุนเวียนเปลี่ยนไป การเดินทางไปถึงกัวเตมาลาสามารถทำได้ง่ายขึ้นเพียงแค่มีวีซ่าอเมริกาหรือเชงเก้นวีซ่าก็สามารถเข้าประเทศได้แล้ว ความปรารถนาจะได้ไปเห็น Tikal Temple สักครั้งก็ได้เป็นรูปเป็นร่าง เป็นความจริงขึ้นมาได้สักที

เพื่อความเต็มอิ่มกับความยิ่งใหญ่ของ Tikal ให้แบบเต็มที่ 4K บ้านเราเลยวางแผนไว้ว่าจะใช้เวลานอนค้างอยู่กันภายในอุทยานแห่งชาติ Tikal เลย จะได้ไม่เสียเวลาเดินทางไปมา เพราะเมืองหลักที่ใกล้ที่สุดที่นักท่องเที่ยวส่วนมากใช้เป็นที่พักที่สามารถเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับได้คือเมือง Flores ซึ่งต้องใช้เวลานั่งรถจากตัวเมือง Flores มาถึง Tikal ประมาณ 1.5 ชั่วโมง ไปกลับก็ 3 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเราอยากจะดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกจาก Tikal Temple ก็จะลำบากในการต้องตื่นเช้ามาก หรือจะกลับถึงที่พักดึกมาก หลังจากที่ศึกษาจากข้อมูลการเดินทางของนักท่องเที่ยวอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ก็ค้นเจอว่าที่ Tikal มีที่พักอยู่ในอุทยานเลย (แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าพักที่ Flores พอควรเลย) เพื่อความสะดวกในการเดินทางและป๊าจะได้ดื่มด่ำกับ Tikal แบบจุใจหลังรอเวลานี้มาอย่างยาวนาน เราเลยจัดการจองที่พักในป่ามันเลยนี่แหละเหมาะที่สุดแล้ว และหลังจากมาถึงที่พักแล้วก็ร็สึกว่าตัดสินใจได้ถูกจริงๆ ที่ได้มานอนอยู่ท่ามกลางป่าฟังเสียงสัตว์ป่าต่างๆ ร้องเสียงดังระงมเป็นเสียงกล่อมในยามค่ำคืน

ป่ะป๊าทำตัวเสมือนเป็น Indiana Jones ตื่นเต้นมากที่ได้มาก Tikal
ป่ะป๊าทำตัวเสมือนเป็น Indiana Jones ตื่นเต้นมากที่ได้มาก Tikal
 

Tikal: ความอัศจรรย์ที่รอการค้นพบ

อาณาจักรมายาที่ Tikal นี่กว้างใหญ่มากนะคะ สิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดที่ขุดค้นได้นี่สร้างมาตั้งแต่เกือบๆ 400 ก่อนคริสต์กาล ส่วนโบราณสถานที่ค้นพบและบูรณะเรียบร้อยแล้วมีอยู่ประมาณ 200 อาคาร แต่จริงๆ แล้วนักโบราณคดีได้คำนวณและศึกษาแล้วว่าในอาณาบริเวณทั้งหมดของแหล่ง Tikal นี่น่าจะมีสิ่งก่อสร้างอยู่ถึงประมาณ 3,000 อาคารเลยทีเดียว ในปัจจุบันการขุดค้นซากโบราณสถานของที่ Tikal นั้นยังทำไปได้ไม่ถึง 20% เลย ไกด์เล่าว่าลักษณะทางกายภาพของพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดคือพื้นที่ราบ ไม่มีเนินเขาใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเห็นเนินดินหรือเนินใดๆ (ซึ่งมีอยู่มากมายในบริเวณอุทยาน) (พูดแล้วไกด์ก็ชี้ให้ดูเนินขนาดย่อยๆ ที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม) เนินเหล่านั้นจะไม่ใช่เป็นเพียงกองดินธรรมดาแต่มันคือซากของโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการขุดค้นต่างหาก เหตุที่ยังขุดได้เพียงเศษส่วนน้อยนิดก็เพราะยังไม่มีงบประมาณในการบูรณะปฏิสังขรณ์ ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าถ้าได้กลับมาเที่ยวใหม่แล้วจะมีเวียงวัง บ้าน หรือวิหารต่างๆ ของชาวมายาปรากฎตัวเพิ่มให้เยี่ยมชมมากขึ้น ถ้ามีงบประมาณการวิจัย/ขุดค้นบริเวณนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อใด ของดีๆ ปรากฎตัวเพิ่มมากอย่างขึ้นแน่นอนค่ะ

สิ่งก่อสร้างแรกที่ไกด์แนะนำและเล่าเรื่องราวให้เราได้ฟังที่ Tikal คือ ห้องชำระล้างที่ไกด์อธิบายว่าเหมือนกับห้องซาวน่า สภาพปัจจุบันที่เห็นคือเป็นกองอิฐที่เหลือแต่ส่วนของฐานรากในขนาดไม่ใหญ่มากนัก ไกด์เล่าให้ฟังว่า ห้องนี้ก็คือห้องทำความสะอาดส่วนกลางของชุมชน ที่ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงแค่ล้างตัวจากความสกปรกแต่เป็นสถานที่ชำระล้างสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายและจิตใจด้วย ความน่าสนใจคือไอเดียห้องชำระล้าง (Purification) ของชาวมายาซึ่งไกด์เล่าให้ฟังว่า สถานที่นี้ลักษณะก็เหมือนกับห้องซาวน่าในปัจจุบัน คือเป็นห้องมีหลังคาปิดและกำแพงล้อมรอบให้ไอจากการต้มน้ำอบอวลอยู่ห้องด้านใน ใช้ความร้อนของไอน้ำเพื่อขับเหงื่อ แต่อีกฟังก์ชั่นของห้องที่น่าประทับใจคือ เป็นสถานที่สำหรับการชำระล้างทั้งร่างกายและจิตใจไปด้วยพร้อมๆ กัน ขยายความได้ว่า ในทางร่างกาย…ชาวมายาใช้การอบไอน้ำแบบนี้เพื่อขับของเสียจากร่างกาย รักษาโรค รักษาอาการเจ็บป่วย เยียวยาหลังการคลอดลูก ขับเหงื่อเพื่อถอนพิษเมื่อโดนทำร้ายจากสัตว์มีพิษหรืออาวุธอาบยาพิษ ส่วนในทางจิตใจก็เชื่อว่าการเข้าไปในห้องชำระล้างนั้นมีเพื่อทำจิตใจให้ “สะอาด” ขับความชั่วร้ายออกจากตัว ผู้ที่เข้าไปต้องสำรวจตรวจตราจิตใจตนเอง ระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ตนเองได้กระทำลงไปทั้งดีและร้าย ถ้าเราทำร้ายใครมาก็ต้องทบทวนและสำนึกผิด ถ้าไม่สำนึกผิดในความร้ายกาจหรือกิจการร้ายๆ ใดๆ ที่ได้กระทำลงไป คนที่ไม่สำนึกนั้นจะเป็นคนที่ไม่มีเกียรติ ไม่มีใครเคารพหรือต้องการจะคบหาสมาคม และยังจะส่งผลร้ายต่อครอบครัวและลูกหลานของบุคคลเหล่านั้นไปด้วย โชคร้ายหรือคำสาปแช่งจะตกสู่ครอบครัวด้วย เป็นกลไกการควบคุมทางสังคมในสมัยโบราณย้อนกลับไปเมื่อสองพันกว่าปีก่อนที่สามารถควบคุมการกระทำของผู้คนในสังคมและยังเปิดโอกาสให้แก่การสำนึกผิดเพื่อให้บุคคลนั้นมีที่ทางให้ปรับตัวเพื่อเข้ากับหมู่เหล่าได้อีกครั้ง สังคมเปิดโอกาสรับสมาชิกกลับเข้าสังคมมาอีกครั้งด้วยกิจกรรมที่เชื่อมโยงร้อยรัดระหว่างจิตใจ ร่างกาย พิธีกรรม และความสัมพันธ์ทางสังคม น่าสนใจมากๆ เลยค่ะ

การเดินทางนี่ทำให้รู้ว่าเราไม่รู้อะไรอีกมากมายในโลกนี้จริงๆ

Tikal: โลกหลังความตายและศาสนสถานที่น่าเกรงขาม

ที่ Tikal โบราณสถานที่ขุดค้นและบูรณะสำเร็จพร้อมให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมได้ส่วนใหญ่คือศาสนสถาน หลังจากเดินตัดป่าและปีนป่ายสิ่งก่อสร้างที่ไกด์เล่าว่าเป็นพระราชวังเก่าของผู้ปกครองเมือง เราก็ได้มาถึงบริเวณลานกว้างใหญ่ที่เบื้องหน้าคือสิ่งก่อสร้างจากหินที่สูงตระหง่าน สมมาตร หินแต่ละชั้นเรียงซ้อนกันอย่างปราณีตบรรจงที่มีชื่อในสมัยปัจจุบันว่า Temple I ซึ่งเป็นโบราณสถานหลักที่ทำให้ Tikal ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็น UNESCO World Heritage Site ด้วย

Temple I นั้นเป็นปีระมิดแบบมายาที่สวยสมบูรณ์แบบ แบ่งสัดส่วนเป็น 9 ชั้น ตามความเชื่อเรื่อง underworld ที่มี 9 ชั้นของชาวมายา ชั้นบนสุดถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่บรรจุศพของกษัตริย์ Jasaw Chan K’awiil I ซึ่งในสมัยที่อาณาจักร Tikal รุ่งเรือง ปีระมิดแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นสถานที่ที่กษัตริย์และนักบวชทำพิธีกรรมเพื่อขอพรต่างๆ จากเทพเจ้า ทั้งเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศ น้ำท่าเพียงพอแก่การเพาะปลูกฯลฯ โดยกษัตริย์และนักบวชจะใส่เครื่องแต่งกายเต็มยศทำจากหนังสัตว์ มีเครื่องหัวจากขนนก quetzal สีเขียวมรกต วาดลวดลายตามร่างกาย ฟันประดับประดาด้วยหินสีมีมูลค่า ผู้ทำพิธีต่างค่อยๆ เดินขึ้นขั้นบันไดแคบๆ ของปีระมิดจนไปถึงชั้นบนสุดเพื่อทำพิธี และในการทำพิธีกรรมบูชาเทพเจ้านั้นก็จะต้องหลั่งเลือดของกษัตริย์เพื่อให้หยดลงบนใบไม้และนำใบไม้เหล่านั้นไปเผาเพื่อเสี่ยงทาย มีการบันทึกไว้ว่าเลือดเหล่านี้อาจจะนำมาจากใบหู ลิ้น และในบางคราวอาจจะรวมไปถึงเลือดจากลึงค์ของกษัตริย์ด้วย แสดงว่าเป็นกษัตริย์แถบนี้ในสมัยโบราณก็ไม่ได้สบายตัวนักนะคะเนี่ย

ศาสนาสถานแห่งนี้นอกจะทำพิธีกรรมทางศาสนาแล้วก็ยังใช้ในการทำพิธีบูชายัญมนุษย์ด้วย โดยนักบวชจะตัดหัวมนุษย์ที่นำมาบูชายัญเพื่อหลั่งเลือดและผลักร่างลงจากปีระมิดเพื่อให้ผู้คนที่เข้าร่วมพิธีได้เห็น โดยส่วนมากผู้ที่ถูกเลือกมาบูชายัญก็จะเป็นเด็ก นักกีฬา Pok-A-ToK กีฬาที่คล้ายๆ กับฟุตบอล (แต่ผู้เล่นห้ามใช้มือและเท้าสัมผัสลูกบอลต้องใช้หัวและสะโพกในการนำลูกบอกเข้าสู่ห่วงกลมที่แขวนไว้เหนือหัวแทน) และเฉลยศึกสงคราม แต่ก็เชื่อกันว่าผู้ที่ได้รับเกียรติได้รับการเลือกไปบูชายัญเนี่ยเมื่อตายแล้วจะไม่ต้องไป underworld เพื่อต่อสู่กับเทพเจ้าของ underworld เลยนะคะ แต่จะได้รับ golden ticket เพื่อมุ่งตรงไปสู่สวรรค์แบบรวดเดียวเลย ซึ่งตามคติของมายาถือเป็นช่องทางเดียวที่จะก้าวข้ามด่านต่างๆ ที่มากมายหลายขั้นตอนไปสู่สวรรค์เลย และถือว่าเป็นเกียรติที่ได้รับการคัดเลือก

เวลาที่เราได้มาสัมผัสกับวัฒนธรรมอื่นๆ นี่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้คติความเชื่อที่ต่างกับความคิดและหลักปฏิบัติในปัจจุบันอยู่อย่างมาก เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องโลกหลังความตายตามความเชื่อของมายาหลายเรื่องเลยทีเดียว ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า….บางเรื่องก็ช่วยให้เรารับมือกับความตายของญาติสนิทมิตรสหายของบ้านเราหลังจากที่กลับมาจากท่องเที่ยวได้จริงๆ หรืออย่างน้อยก็ช่วยอธิบายความไม่เข้าใจและความโกรธเคืองต่อความตายไปได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว

แบ่งปันความสุข