เรื่องเล่าของเมืองอันติกัวอันน่าตื่นตาตื่นใจ

North America

13 มิ.ย. 2022

เรื่องเล่าของเมืองอันติกัวอันน่าตื่นตาตื่นใจ

 

เสียงกลองตีเป็นจังหวะดังสนั่น เครื่องเป่าทองเหลืองดังกังวานช่วยเร่งเร้าอัตราการเต้นของหัวใจ ผู้คนแต่งตัวสวยงาม ขบวนพาเหรดตั้งแถวพร้อมออกเดิน บนถนนปกคลุมไปด้วยพรมที่ทำจากใบไม้ ธัญพืช ดอกไม้ และต้นไม้นานาพรรณ แล้วแต่ที่ผู้รังสรรค์จะจินตนาการ บรรยากาศครึกครื้นของงานเทศกาลปกคลุมไปทั่วเมืองโบราณเล็กๆ ขนาด 1 ตารางกิโลเมตรที่ประหนึ่งมีม่านเวทย์มนต์เข้าปกคลุมไปทั่วเมืองในยามเทศกาลอีสเตอร์ (Easter) เมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่จัดเทศกาลอีสเตอร์ได้ยิ่งใหญ่อลังการที่สุดในอเมริกากลาง

เมืองอันติกัว (Antigua) เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของประเทศกัวเตมาลา (Guatemala) มีภูมิประเทศล้อมรอบไปด้วยภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ยังคงมีพลังเป็นภูเขาไฟที่ active อยู่รอบเมือง ภูเขาไฟที่เห็นได้แบบชัดเจนจากเมืองเลยก็มีอยู่ 3 ลูกใหญ่ๆ ซึ่งก็ทำให้ภูมิทัศน์รอบเมืองสวยงาม อากาศสบายกำลังดีตลอดทั้งปี แต่ก็นั่นแหละ อยู่ใกล้ภูเขาไฟก็ต้องผจญกับการระเบิดของภูเขาไฟอยู่เป็นระยะๆ ในปีค.ศ. 1773 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ได้ทำลายตึกรามบ้านช่องของเมืองอันติกัวไปเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้ในปีค.ศ. 1776 อาณาจักรสเปนซึ่งปกครองดินแดนแถบนี้ได้สั่งอพยพย้ายเมืองไปตั้งใหม่ ณ พื้นที่บริเวณกัวเตมาลาซิตี้ซึ่งเป็นเมืองหลวงของกัวเตมาลา ณ ปัจจุบัน

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีกในช่วงเวลาประมาณปีค.ศ. 1543 ราชอาณาจักรสเปนได้เข้ามายึดครองพื้นที่บริเวณนี้และได้ใช้พื้นที่บริเวณเมืองอันติกัวแห่งนี้ (ในสมัยนั้นชื่อว่า Santiago de los Caballeros) ได้ถูกใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองของดินแดนแถบนี้ทั้งหมดได้แก่ กัวเตมาลา (Guatemala), เบลิซ (Belize), เอล ซัลวาดอร์ (El Salvador), ฮอนดูรัส (Honduras), นิคารากัว (Nicaragua) และ คอสตา ริก้า (Costa Rica) ซึ่งด้วยอิทธิพลของสเปนนี่เองที่ทำให้คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกได้เฟื่องฟูครอบคลุมแผ่อิทธิพลต่อวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของผู้คนแถบนี้มาเป็นเวลายาวนานกว่า 500 ปี โดยศาสนาคริสต์เองก็ปรับเปลี่ยนลดละกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อโอบอุ้มและปรับให้เหมาะสมกับชนเผ่าพื้นเมืองของดินแดนแถบนี้เช่นกัน ทั้งวิถีการกินดื่ม อาหาร วัฒนธรรมพื้นเมือง และเทพเจ้าท้องถิ่นซึ่งในหลายพื้นที่บนที่ราบสูงก็มีการผสมผสานและบูชาควบคู่ไปกับการนับถือพระเยซูด้วยเช่นกัน

กลับมาที่งานเทศกาลอีสเตอร์ การโอบรับและปรับเปลี่ยนเพื่อให้กลมกลืนอยู่ร่วมกันได้กับวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิม (Syncretism) ก็มีให้เห็นอยู่ด้วยเช่นกัน แบบที่เห็นในงานอีสเตอร์เช่นการประดิดประดอยทำพรมจากเมล็ดพืช ดอกไม้ ใบไม้ที่เรียกกันว่า Sawdust Carpet ก็นำเอาสัญลักษณ์และสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของมายาเข้ามาผนวกกับการระลึกถึงการฟื้นคืนชีพของเพราะเยซู เช่น ผีเสื้อ นกแก้ว พระอาทิตย์ รวมไปถึงส่วนต่างๆ ของข้าวโพดพืชพรรณที่สำคัญในภูมิภาคก็ต้องนำมาประดับประดาเป็นส่วนหนึ่งของพรมอันแสนสวยที่เตรียมไว้บูชาพระเยซูในเทศกาลนี้ด้วย

อีสเตอร์ คืองานอะไร

อีสเตอร์ (Easter) หรือ ปัสกา (Pascha) คือ เทศกาลของศาสนาคริสต์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นช่วงเวลาแห่งการระลึกถึงการฟื้นคืนชีพ (resurrection) ของเยซู ซึ่งเชื่อกันว่าพระเยซูได้คืนชีพขึ้นมาหลังจากที่ถูกตรึงกางเขน ตาย และถูกนำไปฝัง ในวันที่สามพระเยซูได้เอาชนะความตาย ลุกขึ้นจากหลุมฝังศพ และช่วยชำระล้างบาปของมวลมนุษยชาติ

การจัดงานอีสเตอร์คือการระลึกถึง Passion of the Christ ที่ได้เสียสละตนเองเพื่อล้างบาปให้แก่มนุษย์ สิ่งนี้คือใจความสำคัญของศาสนาคริสต์ Passion of the Christ ที่ทรงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง ยอมทนอยู่กับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส แบกไม้กางเขน ถูกทรมานร่างกาย อดข้าว อดน้ำ เฆี่ยนตีอย่างทารุณ ทุบขาให้หัก ตรึงกางเขน ตอกตะปูที่มือและเท้า ยอมแลกชีวิตตนเองเพื่อไถ่บาปให้แก่คนทั้งปวง

ก่อนวันอีสเตอร์ จะเป็นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy week) โดยจะเริ่มต้นใน “วันอาทิตย์ใบลาน” หรือ “วันอาทิตย์ใบปาล์ม” (Palm Sunday) และสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย (Easter Sunday) ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ยังมีอีกหลายวันที่มีความสำคัญ "วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์" (Maundy Thursday) ซึ่งเป็นวันฉลองเหตุการณ์ที่พระเยซูทรงร่วมรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับเหล่าอัครสาวก 12 คน "วันศุกร์ประเสริฐ" หรือ "วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์" (Good Friday) เป็นวันระลึกถึงการตรึงกางเขนพระเยซู วันอาทิตย์คืนพระชนม์ (Easter Sunday) จะเป็นการระลึกถึงเช้าวันอาทิตย์ที่พระเยซูทรงฟื้นคืนขึ้นมาจากความตาย ภายหลังจากที่พระองค์ถูกฝังไปแล้วเป็นเวลา 3 วั

การระลึกถึงความเสียสละและความดีของพระเจ้าผ่านเทศกาลอีสเตอร์จึงมีความสำคัญของแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกันออกไป วิธีการแสดงออกและพิธีกรรมก็จะไม่เหมือนกันเพราะมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน และในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้จะใช้สีในพิธีกรรมและเครื่องแต่งกายต่างกันไปในแต่ละวันคือวันพฤหัสบดีจะใช้ “สีม่วง” ซึ่งจะเริ่มใช้มาตั้งแต่วันแรกของเทศกาลมหาพรต ส่วนวันศุกร์และวันเสาร์จะใช้ “สีดำ” ซึ่งเป็นสีแห่งการทนทุกข์และความตาย และเช้าวันอาทิตย์จะใช้ “สีขาว” ซึ่งแสดงถึงชัยชนะจากความตายของพระองค์

พิธีกรรมที่เมืองอันติกัว ประเทศกัวเตมาลา ก็เคร่งครัดในหลักการดังที่กล่าวมาข้างต้น ทั่วทั้งเมืองสามารถเปลี่ยนผ้าประดับประดาจากสีม่วงเป็นสีดำได้ในชั่วข้ามคืน เมืองค่อยๆ แปรเปลี่ยนจากสีม่วง เป็นสีดำแห่งความโศกเศร้า และสีขาวของการฟื้นคืนชีพสว่างไสวไปทั่วเมือง การแสดงออกถึงความศรัทธามันช่างยิ่งใหญ่และน่าประทับใจจริงๆ ค่ะ

*ขอบคุณข้อมูลเรื่องเทศกาลอีสเตอร์จาก www.christianity.com www.history.com www.britannica.com www.plabpla.com http://www.kamsonbkk.com/

แบ่งปันความสุข